ฮือฮา! นาซาเผยภาพผิวดาวพลูโตขยายชัดแจ๋ว-ตั้งชื่อปานรูปหัวใจ

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1971
หางาน,สมัครงาน,งาน,ฮือฮา! นาซาเผยภาพผิวดาวพลูโตขยายชัดแจ๋ว-ตั้งชื่อปานรูปหัวใจ

ความคืบหน้าล่าสุดหลังนาซาประมวลข้อมูลจากยานอวกาศ นิว โฮไรซอน ที่ไปโคจรผ่านดาวพลูโต และส่งข้อมูลชุดแรกมาเมื่อวันพุธ โดยยานได้เผยภาพความละเอียดสูงของพื้นผิวดาวพลูโต ภาพของดวงจันทร์ชารอนที่ชัดที่สุด และข้อมูลอื่นๆ อีกมากมาย...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หลังจากยานอวกาศ 'นิว โฮไรซอน' หรือขอบฟ้าใหม่ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ประสบความสำเร็จในภารกิจบินผ่านดาวพลูโตแล้วเมื่อวันอังคารที่ 14 ก.ค. หลังจากเดินทางจากโลกเป็นเวลา 9 ปี เป็นระยะทางกว่า 3 พันล้านไมล์ ล่าสุดในวันพุธ นาซา ได้เผยความคืบหน้าของการประมวลผลข้อมูลบางส่วนที่ถูกส่งจาก นิว โฮไรซอน และเผยแพร่ภาพระยะใกล้ของพื้นผิวดาวพลูโต ซึ่งแสดงให้เห็นภูเขาน้ำแข็งความสูงเท่าๆ ภูเขาในเทือกเขาร็อกกีแล้ว รวมทั้งเปิดเผยภาพความละเอียดสูงของดวงจันทร์ ชารอน ซึ่งเป็นดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดใน 5 ดวงของดาวพลูโตด้วย

(จากซ้าย) ดร. อลัน สเติร์น, ดร. ฮัล วีเวอร์, ดร. วิล กรันดี, ดร. เคธี โอลคิน และดร. จอห์น สเปนเซอร์ หัวหน้าทีมภารกิจ นิว โฮไรซอน แถลงข่าวที่ ห้องทดลองฟิสิกส์ประยุกต์ (APL) ของมหาวิทยาลัย จอห์นส์ ฮอปกินส์ (ภาพ: AFP)

ดร. จอห์น สเปนเซอร์ หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ในภารกิจ นิว โฮไรซอน บอกกับผู้สื่อข่าวที่งานแถลงข่าวซึ่งถ่ายทอดสดทางช่อง นาซาทีวี เมื่อเวลาประมาณ 2:00 น. วันพฤหัสบดีตามเวลาไทยว่า ภาพระยะใกล้ของพื้นผิวดาวพลูโตภาพแรกในประวัติศาสตร์นี้ แสดงให้เห็นภูมิประเทศที่ผ่านการเปลี่ยนผิวหน้าใหม่จากกระบวนการทางธรณีวิทยาบางอย่าง เช่น ภูเขาไฟระเบิด ในช่วงเวลา 100 ล้านปีที่ผ่านมา โดยในภาพพวกเขาไม่พบหลุมจากการตกกระแทกของอุกกาบาตเลยแม้แต่หลุมเดียว หมายความว่า นี่เป็นพื้นผิวที่มีอายุน้อยมาก

ภาพความละเอียดสูงของพื้นผิวดาวพลูโตพร้อมแถบเปรียบเทียบขนาด (ภาพ: NASA/AFP)

กระบวนการทางธรณีวิทยานี้จำเป็นต้องได้รับแหล่งความร้อนบางประการ โดยก่อนหน้านี้พบเห็นได้เพียงบนดวงจันทร์ที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งเท่านั้น ซึ่งได้ความร้อนมาจาก 'กระบวนการสร้างความร้อนภายในด้วยแรงไทดัล' (Tidal Heating) อันเป็นแรงเสมือนที่เกิดจากผลต่างระหว่างแรงโน้มถ่วงที่ดาวเคราะห์กระทำต่อพื้นผิวดาวบริวารด้านใกล้ดาวเคราะห์ กับแรงโน้มถ่วงที่ดาวเคราะห์กระทำต่อพื้นผิวดาวบริวารด้านไกลดาวเคราะห์ เมื่อดาวบริวารโคจรรอบดาวเคราะห์ดวงแม่เป็นรูปวงรี แรงไทดัลที่ดาวบริวารจะไม่เท่ากันตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงของแรงไทดัลไปพร้อมๆ กับที่ดาวบริวารกำลังโคจรอยู่นี้ ทำให้เกิดการ ยืด-หด และการเสียดสีของวัสดุประกอบภายในดาวบริวาร ทำให้โครงสร้างภายในของดาวบริวารร้อนขึ้น

"คุณไม่ต้องการ Tidal Heating เพื่อเพิ่มความร้อนทางธรณีวิทยาบนพื้นผิวน้ำแข็ง นี่เป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่เราเพิ่งรู้เมื่อเช้านี้ (วันพุธตามเวลาสหรัฐฯ)" ดร.สเปนเซอร์กล่าว

ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ อลัน สเติร์น ผู้อำนวยการบริหารของ คณะกรรมการบริหารภารกิจทางวิทยาศาสตร์ของนาซา กล่าวในงานเดียวกันว่า การค้นพบดังกล่าวทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ส่วนดร. เคธี โอลคิน รองหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ในภารกิจ นิว โฮไรซอน กล่าวว่า เรื่องนี้เหนือความที่เราคาดหวังไว้

ภาพดาวพลูโตแบบเต็มดวงซึ่งนาซาเผยแพร่เมื่อ 13 ก.ค. (ภาพ: NASA/AP)

ดร.สเปนเซอร์ยังพูดถึงภูมิภาครูปหัวใจที่ปรากฏบนดาวพลูโตด้วย โดยพวกเขาตั้งชื่อให้มันว่า 'ทอมบอ เรจิโอ' (Tombaugh Regio) เพื่อเป็นเกียรติแก่ ไคลด์ ทอมบอ นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ค้นพบดาวเคราะห์แคระพลูโตเมื่อปี 1930 ภูมิภาคนี้มีความสูงถึง 11,000 ฟุต (3,300 ม.) เทียบได้กับเทือกเขาร็อกกีในอเมริกาเหนือ ซึ่งดร.สเปนเซอร์กล่าวว่า ภูมิภาคนี้อาจเป็นส่วนประกอบของชั้นน้ำแข็งและน้ำดาวพลูโต เนื่องจากแก๊สมีเทน, คาร์บอนมอนอกไซด์ และไนโตรเจน ที่ปกคลุมพื้นผิวดาวเคราะห์แคระห์ดวงนี้ ไม่เพียงพอที่จะสร้างภูเขา "น้ำและน้ำแข็งที่ดาวพลูโตมีอุณหภูมิพอจะพยุงภูเขาขนาดใหญ่" ดร.สเปนเซอร์กล่าว

ภาพความละเอียดสูงของดวงจันทร์ชารอน ที่นาซาเผยแพร่ในวันพุธที่ 15 ก.ค. (ภาพ: NASA/AP)

นอกจากนี้ นาซายังเผยแพร่ภาพขยายของดวงจันทร์ ชารอน ดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดใน 5 ดวงของดาวพลูโต โดยภาพแสดงให้เห็นรอยแตกลึก 4-6 ไมล์ และหลักฐานของการเปลี่ยนพื้นผิวใหม่ โดยดร. โอลคิน ระบุว่า เดิมทีเธอเชื่อว่าชารอนอาจมีภูมิประเทศเก่าแก่ปกคลุมด้วยหลุมอุกกาบาต แต่ภาพใหม่ทำให้เธอตื่นเต้นมาก ภาพยังแสดงให้เห็นรอยเลื่อนและหน้าผาไล่ตั้งแต่ทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงทางตะวันตกเฉียงใต้ของดวงจันทร์ชารอน ประมาณ 600 ไมล์ ซึ่งอาจเกิดจากกระบวนการภายในของดวงจันทร์ ขณะที่บริเวณมืดบนขั้วเหนือของชารอน อาจเป็นชั้นบางๆ ที่อยู่บนสสารสีแดง ซึ่งพวกเขาตั้งชื่ออย่างไม่เป็นทางการให้มันว่า 'มอร์ดอร์' สถานที่ในนิยายเรื่อง 'Lord of the Rings'

ภาพที่ชัดที่สุดของดวงจันทร์ ไฮดรา เท่าที่มีตอนนี้ (ภาพ: NASA)

นาซายังเผยภาพที่ชัดเจนที่สุดภาพแรกของดวงจันทร์ 'ไฮดรา' ของดาวพลูโต ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มันมีลักษณะยืดยาวออกไป โดยพื้นผิวทำจากน้ำและน้ำแข็ง มีขนาดประมาณ 43x33 กิโลเมตร อนึ่ง ภาพดวงจันทร์ไฮดราประกอบด้วยไม่กี่พิกเซลเท่านั้น เนื่องจากมันมีขนาดเล็กมาก และยาว นิว โฮไรซอน ถ่ายภาพมาจากระยะทางกว่า 650,000 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม รูปภาพทั้งหมดที่นาซาเปิดเผยออกมาในวันพุธ มีความชัดเจนมากกว่าหลักฐานทั้งหมดที่มนุษย์มีก่อนหน้านี้มากมาย

ทั้งนี้ ทีมภารกิจเปิดเผยด้วยว่า ในสัปดาห์นี้ยาน นิว โฮไรซอนจะส่งข้อมูลเพียงส่วนน้อยจากทั้งหมดที่รวบรวมได้กลับมายังโลกเท่านั้น โดยเหตุผลส่วนหนึ่งคือมันยังมีภารกิจสำรวจด้านมืดของดาวพลูโตต่อ โดยตั้งใจว่าจะสังเกตการณ์ดาวพลูโตหมุนรอบตัวเอง 2 ครั้ง หรือเท่ากับ 12 วันบนโลก

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top